ตอนที่ 3 – เงินเฟ้อ inflation คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร จะสิ้นสุดเมื่อใด
เมื่อเราทราบถึงโอกาสการลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ ในตอนที่1 และ สาเหตุและการฟื้นตัว ของภาวะเงินเฟ้อ inflation ในตอนที่2 แล้ว ในส่วนของตอนที่ 3 เราจะมาดูว่า “เงินเฟ้อคืออะไร” และ “เงินเฟ้อแบบกำลังดี” ส่งผลกับเศรฐกิจอย่างไร
เงินเฟ้อคือ
การที่เงินมีมูลค่าลดลง ข้าวของและค่าบริการต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายน้อยลง เช่น มีเงินอยู่ 100 บาท เคยซื้อข้าวแกงกินได้ 3 จาน ต่อมาซื้อได้เพียง 2 จาน เพราะราคาเฟ้อขึ้นมาจากจานละ 33 บาทเป็นจานละ 50 บาท มีผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงที่เห็นได้ชัดคือคนที่เคย “อยู่ได้” กลับ “ไม่พอกิน” โดยธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 6.2%* ( ซึ่งยังน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราเงินเฟ้อถึง 9% * )
ระบอบการเงินของโลกเราปัจจุบันมองว่าระบบเศรษฐกิจที่เงิน “เฟ้อนิดหน่อย” ถือว่า “กำลังดี” เพราะจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปได้ต่อเนื่อง แต่สาเหตุหลักของเงินเฟ้อสูงเกินไปในครั้งนี้ คือปัญหาด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรง อย่างแรกคือรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตอาหารลำดับต้นๆ ของโลก เมื่อกลลุ่มประเทศตะวันตกคว่ำบาตรสินค้าจากรัสเซีย และรัสเซียปิดกั้นช่องทางการส่งออกของยูเครน ทำให้ตลาดอาหารโลกปั่นป่วนใหญ่ เกิดภาวะขาดแคลนอาหารในยุโรป รวมถึงมีการปรับราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในประเทศไทย ถือว่าได้รับผลกระทบด้านอาหารน้อย เนื่องจากสามารถผลิตอาหารได้เอง
ปัจจุบันตลาดพลังงานโลกยังพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก โดยปกติความต้องการพลังงานจะพอดีกับปริมาณผลผลิตที่เหล่าบริษัทน้ำมันผลิตส่งให้ได้ เมื่อกลุ่มประเทศตะวันตกยกเลิกการสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย (ผู้ผลิตเบอร์ 3 ของโลก) แต่ความต้องการใช้พลังงานภายในแต่ละประเทศมีเท่าเดิม แต่กำลังการนำเข้าพลังงานลดลง ส่งผลให้ขาดแคลน และทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากจาก $64 ต่อบาเรล ปรับขึ้นสูงสุดถึง $100 ต่อบาเรล ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟ ค่าขนส่ง ค่าเดินทาง สูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยเรายังพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบโดยตรง
ปัจจัยสองอย่างนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น เพราะการเพิ่มกำลังการผลิตอาหารหรือน้ำมันเพื่อทดแทนส่วนของรัสเซียและยูเครน อาจจใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะทำให้ได้สมดุลเดิมกลับมา ระหว่างนั้นผู้บริโภคต้องปรับพฤติกรรมช่วยลดความต้องการทางอ้อม เช่น กินอาหารประเภทอื่นที่ผลิตง่ายหรือผลิตในประเทศ ลดการบริโภคอาหารนำเข้า หรือหลีกเลี่ยงการเดินทางไกล เพื่อประหยัดพลังงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้สมดุลกลับมาเร็วขึ้น
โดยสรุปเราต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่ออยู่กับภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจอยู่กับเราอย่างน้อย 3 ปี ชนวนสำคัญของวิกฤตเงินเฟ้อคือสงครามนั้นไม่จบในเร็วๆนี้ เนื่องจากรัสเซียมีอาหารและพลังงาน พร้อมรับมือการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก และประชาชนในประเทศรัสเซียไม่ได้รับความเดือดร้อนจากสงคราม ทำให้รัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากประชาชนยังคงไม่เห็นถึงผลกระทบ อีกทั้งจีนและอินเดีย มิได้สนใจมาตราการคว่ำบาตรรัสเซียของยุโรป ยังคงเดินหน้าซื้อพลังงานจากรัสเซียต่อไป เนื่องจากกำลังการผลิตเองในประเทศ มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศตน เราจึงต้อง “ทำใจ” กับ “ปรับตัว” เพื่อปรับตัวและตั้งรับกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
*ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฏาคม 2565
ย้อนอ่าน : ตอนที่ 1 : เราควรลงทุนอย่างไรในช่วงเงินเฟ้อสูง