สาเหตุของ เงินเฟ้อ และเศรษฐกิจตกต่ำ
ตอนที่ 2 – เศรษฐกิจซบเซาเพราะสาเหตุใด และจะดีขึ้นเมื่อใด
ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงแนวทางและโอกาสทางการลงทุนในช่วง เงินเฟ้อ ส่วนในตอนที่ 2 จะกล่าวถึง “สาเหตุ” และ “ ระยะฟื้นจาก เงินเฟ้อ” ซึ่งจะกล่าวถึงทั้งสาเหตุทั่วไปและสาเหตุพิเศษ ที่เกิดขึ้นเฉพาะอย่างคาดเดาไม่ได้ รวมถึงการคาดการณ์ปัจจัยที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะ เงินเฟ้อได้อย่างทันท่วงที
ต้องยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก เนื่องจากคมนาคมในการเดินทางไม่สะดวก มีผลการเจรจาธุรกิจ บางประเทศปิดระบบขนส่งทั้งหมด และภาคการผลิตก็ไม่ได้สามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลัง เนื่องจากมีการล็อคดาวน์ในพื้นที่ ทั้งขาดแคลนแรงงานเนื่องจากแรงงานมีอาการเจ็บป่วยจากโรคระบาด จึงต้องมีการกักตัว แรงงานจึงไม่เพียงพอ รวมถึงขาดแคลนชิ้นส่วนและองค์ประกอบในการผลิต ทั้งวัตถุดิบ การจัดเก็บและการขนส่งสินค้าที่ติดขัด ทั้งการนำเข้าและส่งออก ล้วนมีปัญหาทั้งหมด
โดยภาพรวมธุรกิจทั่วไปก็ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ทุกอย่าง เคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า บางธุรกิจหยุดชะงัก การตัดสินใจลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจและโครงการต่างๆชะลอตัว หรือก่อให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินโครงการ ให้ธุรกิจมีรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตลอด 2ปี โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ได้มีนโยบายให้ธนาคารต่างๆปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้มีการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งถ้าหากไม่มีภาวะเงินเฟ้อสูงเข้ามากระทบ นโยบายเหล่านี้ จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นกลับมาได้ในไม่ช้า แต่เมื่อมีภาวะเงินเฟ้อเข้ามา ทางธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยและลดเม็ดเงินที่ป้อนเข้าไปในระบบสินเชื่อ เพื่อเป็นการกดเงินเฟ้อให้ลดลง ซึ่งสวนทางกับวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในช่วงต้นปี 2022 แม้สถานการณ์โควิดจะเริ่มคลี่คลาย การเดินทางสะดวกมากขึ้น แต่ก็เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้ราคาสินค้าต่างๆพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากอาหารและต้นทุนด้านพลังงานสูงขึ้น โดยรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตที่สำคัญของห่วงโซ่อาหารโลก เมื่อทั้งสองประเทศไม่ได้มีการส่งออก ทำให้ประเทศที่พึ่งการนำเข้าอาหารจาก 2 ประเทศนี้ มีอาหารไม่เพียงพอและรวมถึงราคาปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความไม่สมดุลของความต้องการใช้น้ำมันกับกำลังผลิตของเหล่าบริษัทน้ำมัน (ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียโดยการยกเลิกการสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตเบอร์ 3 ของโลก)
นอกจากนี้ ภาคการขนส่งก็ได้รับผลกระทบทั้งจากจากสถานการณ์โควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทั้งการขาดแคลนองค์ประกอบและชิ้นส่วนในการขนส่ง และปัญหาสำคัญคือต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิง ที่สูงขึ้นเนื่องจากสงคราม ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าในหลายประเทศ รวมถึงสินค้าต่างๆมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ขาดเสถียรภาพของห่วงโซ่ภาคการผลิต เนื่องจากต้องพึ่งวัตถุดิบจากพื้นที่สงครามมากเกินไปและไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuit) ขาดแคลนอย่างหนักทำให้ บริษัทผลิตรถยนต์หลายบริษัท ต้องลดกำลังการผลิต ทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าล่าช้า ด้วยกำลังการผลิตที่ลดลง การส่งมอบสินค้าล่าช้า ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัจจัยทางลบสุดท้ายที่สงครามนำมาคือความเชื่อมั่น หากมองในมุมนึงเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีความมั่นใจก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโลกว่าจะทำงานได้อย่างปกติและจะเติบโตนั้น ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อมีสงคราม จึงกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรปและดึงมหาอำนาจอย่างอเมริกา รัสเซีย และจีนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นด้านการลงทุนลดลงไปอีก ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเคลื่อนได้ช้าลง
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ทั้งเรื่องอาหาร พลังงาน การขนส่ง หรือห่วงโซ่การผลิต อาจใช้เวลาจะหลายปีในการแก้ไขปรับปรุง หรือ ฟื้นฟู รวมถึงการเตรียมพร้อมในการพึ่งตนเองมากขึ้น สุดท้ายเรื่องความมั่นใจหากสถานการณ์ในยูเครนมีความนิ่งมากขึ้น (เช่น แบ่งดินแดนกันได้) ความมั่นใจของนักลงทุนก็สามารถเปลี่ยนแปลง โน้มน้าวให้เดินหน้าลงทุนง่ายขึ้น
สรุปว่าธุรกิจทั่วไปยังคงต้องประคองธุรกิจไปอีกระยะหนึ่ง รวมถึงต้องปรับตัวหาธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด และธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสงครามน้อยที่สุด
บริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการเผยแพร่ ดัดแปลง ทำซ้ำ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท
ย้อนอ่าน : ตอนที่ 1 : เราควรลงทุนอย่างไรในช่วงเงินเฟ้อสูง
ตอนที่ 3 : เงินเฟ้อคืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร จะสิ้นสุดเมื่อใด